ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทำให้องค์กรต่าง ๆ ระดับประเทศหลายองค์กรให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ สำหรับประเทศไทยที่กำลังจะเป็น “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” ในปีพ.ศ 2564 จึงได้มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557 ที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุโดยมีวิสัยทัศน์ว่า “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม” เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ซึ่งผู้สูงอายุควรมีความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะนี้ได้ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถปรับตัวปรับใจต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เกิดความหงุดหงิดที่ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้เหมือนเดิม เกิดความเหงา หว้าเหว่ มีความรู้สึกไร้ค่า ในที่สุดอาจเกิดภาวะซึมเศร้ามีรายงานระบุว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเคยมีประสบการณ์ของการมีภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง กิจกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุไม่เกิดภาวะที่กล่าวมาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้คือ “กิจกรรมนันทนาการ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุเพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ สร้างความสุข พัฒนาความสามารถของผู้สูงอายุ ส่งเสริมสุขภาพและสมรรถภาพรวมทั้งสามารถสร้างความสมดุลของกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี
จากความสำคัญของกิจกรรมนันทนาการที่มีต่อผุ้สูงอายุดังกล่าว สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา จึงให้ความสำคัญและถือว่านันทนาการเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะสามารถพัฒนาทางบุคคลด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณทำให้เป็นคนที่สุขภาพดี และนันทนาการยังช่วยสร้างสัมพันธภาพของคนในชุมชนทำให้เกิด ความสมานฉันท์ มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เสริมความเข้มแข็งของชุมชนและสร้างเครือข่ายชุมชนหรือท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้บุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมไปถึงผู้สูงอายุได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุปกรณ์ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ทางนันทนาการให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านนันทนาการระยะที่ 3 (พ.ศ.2563-2565) ต่อเนื่องจากแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดให้มีการพัฒนาการจัดการทรัพยากรนันทนาการให้มีมาตรฐานตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางนันทนาการที่จะช่วยให้เกิดความสุขทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา จึงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการวิจัย เรื่อง “มาตรฐานอุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ” ภายใต้ “โครงการจัดทำองค์ความรู้ด้านมาตรฐาน อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางนันทนาการ” เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การจัดสถานที่นันทนาการของผู้สงอายุทั้งในรูปแบบของการเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่พักของผู้สูงอายุ หรือ เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือเป็นอาคารนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต
ผลการวิจัยพบว่า อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุควรมีการจัดสถานที่นันทนาการ 2 ลักษณะ ได้แก่
1) การจัดสถานที่สำหรับนันทนาการในร่มหรืออาคารนันทนาการภายในอาคารประกอบด้วย ห้องฟิตเนส ห้องพัฒนาทางสมอง ห้องศิลปหัตถกรรม ห้องประกอบอาหาร ห้องดูโทรทัศน์ ฯ ซึ่งในแต่ละห้องควรมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำกิจกรรมในห้องนั้น ๆ รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็น มีฟรี WIFI มีระบบระบายอากาศ และระบบจัดการแสงสว่างที่เหมาะสม มีกล้องวงจรปิดทั้งอาคาร มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีเครื่องเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เป็นต้น โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับอาคารนันทนาการคือการจัดสร้างตามหลักอารยสถาปัตย์
2) การจัดสถานที่นันทนาการกลางแจ้งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ นันทนาการการแจ้งทั่วไป เช่น ลานอเนกประสงค์ สวนหย่อม สวนพืชผักสวนครัวฯ นันทนาการกลางแจ้งประเภทกีฬาและการออกกำลังกาย เช่น พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ทางเดินออกกำลังกาย สนามเปตอง สระว่ายน้ำ ฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่นันทนาการภายนอกอาคารมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำกิจกรรม รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น มีศาลานั่งพักและมีเก้าอี้นั่งพักอย่างเพียงพอ มีระบบแสงสว่างที่เพียงพอในเวลากลางคืน มีกล้องวงจรปิด มีจุดน้ำดื่มเป็นระยะ เป็นต้น และการจัดพื้นที่ควรคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์
นอกจากนี้ยังเสนอแนะมาตรฐานการบริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุเพื่อกิจกรรมนันทนาการ เช่น นโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ คณะทำงานเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ แผนงาน/งบประมาณ การควบคุมกำกับและติดตามประเมินผล การมีผู้ปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ ตามความเหมาะสม การพัฒนาบุคคลากรและการจัดการและดูแลสภาพแวดล้อมภายในสถานดูแลผู้สูงอายุ
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา ได้จัดทำ “มาตรฐานอุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจัดอุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ท่านใดที่สนใจคู่มือฉบับนี้สามารถติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่ สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โทรศัพท์ 0-2214-0120
31 สิงหาคม 2563
![]() |
แผนที่และการเดินทาง ติดต่อหน่วยงานต่างๆ ของคณะ |